ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ประจำวันที่
27 กันยายน 2567
ข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการประชุมบูรณาการแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบหลังจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือ
(27 ก.ย. 67) ณ ห้องประชุมท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมบูรณาการแผนฟื้นฟูและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดภาคเหนือ โดยมี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ จ.เชียงรายเข้าร่วม
นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า
รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของประชาชนจากเหตุการณ์อุทกภัยโดยเฉพาะในพื้นที่ จ.เชียงราย ที่มีปัญหาดินโคลนถล่มสร้างความเสียหายค่อนข้างมากได้มอบนโยบายให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) เร่งรัดการจ่ายค่าเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบให้เร็วที่สุด และมอบหมายปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพิ่มค่าเยียวยาประชาชนที่เดือดร้อนและทรัพย์สินที่เสียหายให้เหมาะสม
สำหรับการแก้ปัญหาดินโคลนที่ติดค้างอยู่ในบ้านเรือนของประชาชนให้ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน แบ่งขอบเขตโซนความรับผิดชอบในการทำงาน
• กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาให้เสร็จโดยด่วน ให้ส่วนราชการอื่น ๆ สนับสนุนเครื่องจักร/เครื่องมือ และอัตรากำลังคน เพื่อร่วมแก้ไขปัญหาอย่างเต็มกำลัง
• กระทรวงการคลัง ได้เตรียมดำเนินการเรื่อง Soft loan สำหรับฟื้นฟูกิจการหรือซ่อมแซมที่พักอาศัยหลังน้ำลด วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายสำหรับกลุ่ม Micro SME (กลุ่มที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 1.8 ล้านบาท การจ้างงานไม่เกิน 5 คน) ขึ้นไป รวมถึงบุคคลธรรมดา
• กระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมอุปกรณ์ทำความสะอาดและซ่อมแซม มอบให้แก่ผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมากรวมถึงสินค้าธงฟ้าในราคาประหยัด เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นได้
นายกฯ สั่งเร่งแก้ไขปัญหา เยียวยา-ฟื้นฟู
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ติดตามการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและดินโคลนถล่มผ่านระบบ Video conference จากผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง, ผู้ว่าฯ พะเยา, ผู้ว่าฯ สุโขทัย, ผู้ว่าฯ หนองคาย, ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ และผู้ว่าฯ เชียงราย พร้อมรับฟังรายงานความคืบหน้าการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ จากอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และขอบคุณผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย อาสาสมัคร พี่น้องประชาชนที่ช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ และได้สั่งการต่อที่ประชุม ดังนี้
1. ให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ปฏิบัติการส่วนหน้า เพื่อเป็นศูนย์สั่งการและประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้ รมช.มหาดไทย นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เป็นประธาน และ รมช.กลาโหม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นที่ปรึกษา และที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ เป็นโฆษกฯ ให้ประจำที่หน้างานเป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย โดยให้มีการระดมพลผ่านทางกระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม ร่วมกับอาสาสมัคร และหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ
2. การแก้ไขปัญหาในพื้นที่เขต อ.เมืองเชียงราย และ อ.แม่สาย ให้ดำเนินการ ดังนี้
2.1) ให้กระทรวงมหาดไทย จัดแบ่งพื้นที่รับผิดชอบ (zoning) ให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน โดยผู้ว่าฯ เชียงราย และอธิบดี ปภ. ประชุมติดตามผลการดำเนินงาน รับทราบปัญหาอุปสรรค จากหัวหน้าหน่วยที่รับผิดชอบแต่ละโซนทุกวัน เพื่อรายงานไปยัง ศปช. สนับสนุนการดำเนินงานและแก้ไขปัญหาให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ต่อไป โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายพื้นที่ที่ได้เริ่มเยียวยาแล้วให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 20 ต.ค. 67 นี้ ส่วนในพื้นที่อื่น ๆ ขอให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จอย่างเร่งด่วน
2.2) ให้ทุกส่วนราชการสนับสนุนเครื่องจักร/เครื่องมือ บุคลากร ในการดำเนินงาน โดยรายงานไปที่ศูนย์ ศปช. และส่งสำเนาถึง ผู้ว่าฯ เชียงราย และ อธิบดี ปภ. ทราบด้วย
2.3) หากพบว่าเครื่องจักร/เครื่องมือมีไม่เพียงพอ ให้ ปภ. จัดจ้างจากเอกชนเพื่อระดมการแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยมอบหมายให้กรมบัญชีกลางพิจารณากระบวนการจัดจ้างให้เกิดความรวดเร็ว โดยไม่ขัดกับระเบียบที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณสนับสนุนงบประมาณกับหน่วยงานดำเนินการเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนให้กับประชาชนต่อไป
2.4) การอำนวยความสะดวกเพื่อซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างอาคารบ้านเรือน ถนน สะพาน เสาไฟฟ้า อ่างเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ตลอดจนการบริหารจัดการขยะและโคลน โดยให้ผ่อนผันเรื่องการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ และที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการต่าง ๆ เช่น พื้นที่ของกองทัพ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นำเสนอประเด็นดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
2.5) ระบบเตือนภัย ให้ส่วนราชการที่รับผิดชอบในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเร่งรัดดำเนินการ ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงราย และพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศที่มีความเสี่ยงให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝนปีหน้า
2.6) เพื่อแก้ไขปัญหาในระยะยาว มอบหมายส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงคมนาคม (กรมเจ้าท่า, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (กรมทรัพยากรธรณี, กรมป่าไม้, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) กระทรวงมหาดไทย (จ.เชียงราย, ปภ.) กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ วางแผนการแก้ไขปัญหาระยะกลาง และระยะยาว เช่น การขุดลอกแม่น้ำสายไม่ให้ตื้นเขิน พิจารณาขยายสะพานหรือท่อระบายน้ำเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำ การป้องกันการพังทลายของตลิ่งและการจัดทำระบบเตือนภัย และสรุปผลเสนอ ครม. พิจารณาโดยด่วนต่อไป
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเบิกจ่ายโดยเร็วที่สุด รวมถึงมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม ที่ทุกภาคส่วนจะเร่งเสนอต่อ ครม. ต่อไป
นายกฯ มอบเงินเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย
เวลา 17.30 น. ณ หอประชุมโรงเรียนเทศบาล 6 นครเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายกรัฐมนตรี ได้มอบเงินเยียวยาให้ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จ.เชียงราย อ.เมือง จำนวน 30 ครอบครัว เป็นเงิน 1,485,000 บาท อ.เทิง จำนวน 6 ครอบครัว เป็นเงิน 297,000 บาท อ.เวียงแก่น จำนวน 18 ครอบครัว เป็นเงิน 891,000 บาท และมอบเงินช่วยเหลือฯ ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมมอบชุดอุปกรณ์ทำความสะอาดบ้านเรือนให้กับผู้ประสบภัย
นายกรัฐมนตรี กล่าวกับประชาชนว่า วันนี้มาในนามของตัวแทนรัฐบาล นำ ครม. ลงพื้นที่ให้กำลังใจพี่น้องชาวเชียงรายที่ประสบปัญหาน้ำท่วมหนักที่สุดในรอบหลายปี และปัญหาดินโคลนถล่ม ซึ่งได้นำสิ่งของต่าง ๆ มามอบให้เพื่อแสดงให้รู้ว่ารัฐบาลเต็มที่ในการช่วยเหลือและเยียวยาฟื้นฟู รวมถึงเงินช่วยเหลือ และในสัปดาห์หน้าจะเสนอในการประชุม ครม. เพื่อขยายความช่วยเหลือเพิ่มเติม ซึ่งรัฐบาลเร่งช่วยเหลือเยียวยาเพื่อให้ประชาชนได้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว
“ยืนยันรัฐบาลไม่ทิ้งประชาชนอย่างแน่นอน พร้อมช่วยเหลืออย่างเต็มที่ขอให้ประชาชนมั่นใจ รัฐบาลขอเป็นกำลังใจและจะช่วยเหลือทุกอย่าง พร้อมจะระดมกำลังคนมาช่วยทำความสะอาดคืนพื้นที่ให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด ขออย่าท้อ สู้กันต่อไป ขอให้มีกำลังใจ และขอส่งความรักให้พี่น้องชาวเชียงรายทุกคน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
มท. โอนเงินช่วยผู้ประสบภัยชุดแรก
ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยวงเงิน 3,042.52 ล้านบาท ที่ ครม. อนุมัติ (17 ก.ย. 67) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ได้กำชับให้กลไกทุกส่วนของกระทรวงฯ สนับสนุนช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ให้เร็วที่สุด ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดี ปภ. ได้รายงานว่า จากความร่วมมือที่ใกล้ชิดของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ ปภ. สามารถรวบรวมและส่งเอกสารของผู้ประสบภัยให้ธนาคารออมสินใน 3 อำเภอของ จ.เชียงรายแล้ว และจะเป็นผู้ประสบภัยชุดแรกที่ทางการจะโอนเงินช่วยเหลือให้จำนวน 3,623 ครัวเรือน แยกเป็นครัวเรือนในพื้นที่ อ.เมืองเชียงราย 3,305 ครัวเรือน อ.แม่สาย 222 ครัวเรือน และ อ.ขุนตาล 96 ครัวเรือน ส่วนบัญชีธนาคารอื่น ๆ จะทยอยโอนตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.นี้ เช่นกัน
หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือ
ตามมติ ครม. (17 ก.ย. 67) จะจ่ายเงินให้กับครัวเรือนซึ่งประสบอุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 67 เป็นต้นมาในพื้นที่ 57 จังหวัด โดย รมว.มหาดไทย ได้ให้เป็นแนวนโยบายกับผู้ว่าราชการทุกจังหวัดที่ประชาชนอยู่ในเกณฑ์ต้องได้รับเงินช่วยเหลือต้องกำกับการสำรวจความเสียหายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
สำหรับการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยา ปภ. ได้เตรียมช่องทางยื่นคำร้องด้วยตนเอง
1. ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยประชาชนสามารถติดต่อดำเนินการ ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
2. ยื่นคำร้องออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ http://flood67.disaster.go.th ได้เปิดระบบให้ยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 67 สำหรับผู้ประสบภัยที่เอกสารชำรุด-สูญหาย สามารถติดต่อได้ที่ที่ว่าการอำเภอหรือท้องถิ่นของตนเอง เพื่อออกเอกสารรับรองให้
นายกฯ ติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.เชียงราย-เชียงใหม่
กำหนดการวันที่ 28 ก.ย. 67 เวลา 08.30 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ เดินทางไปยังที่ว่าการ อ.แม่สาย จ.เชียงราย (หลังพักค้างคืนที่ จ.เชียงราย) และเดินทางต่อไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ใน อ.แม่สาย เพื่อตรวจและติดตามการฟื้นฟูพื้นที่ที่รับได้ผลกระทบและพบปะให้กำลังใจประชาชนพร้อมมอบเงินเยียวยา และช่วงบ่ายจะออกเดินทางจากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ไปยังท่าอากาศยานกองบิน 41 จ.เชียงใหม่ และเดินทางต่อไปยังสถานีวัดระดับน้ำ P1 ถนนเชียงใหม่ - ลำพูน ต.วัดเกตุ อ.เมืองเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตชุมชน ที่สถานีวัดระดับน้ำ P1 เชิงสะพานนวรัฐ และมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ บริเวณถนนช้างคลาน ก่อนจะเดินทางกลับกรุงเทพฯ
29 ก.ย. จัดบิ๊กคลีนนิ่งในพื้นที่ อ.แม่สาย
มีกำหนดการบิ๊กคลีนนิ่งครั้งใหญ่ในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ในวันที่ 29 ก.ย.นี้ โดยขอเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่ต่าง ๆ มาร่วมมือร่วมใจกันเพื่อฟื้นฟู อ.แม่สาย ให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติสุขโดยเร็ว สำหรับประชาชน – ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ต้องการเข้าพื้นที่ขอให้ประสานงานได้ที่ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0931311784 และโทรศัพท์ 053177318-23 เพื่อให้ศูนย์บัญชาการฯ จะได้แบ่งพื้นที่บริหารจัดการอย่างเป็นระบบและรวดเร็ว
ข้อมูลข่าวจาก : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/328078