กองทุนหมู่บ้าน
Thaksin Shinawatra (The Story Ep.7)
25ก.ค.44 กองทุนหมู่บ้าน
นโยบายเพื่อแก้ปัญหาความยากจน
หลายสิบปีที่แล้ว การเข้าถึงเงินทุนเป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างยิ่งสำหรับประชาชนทั่วไป การคิดจะกู้เงินจากสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเองในการประกอบกิจการอะไรสักอย่าง คนธรรมดาทั่วไปต้องคิดแล้วคิดอีก
เพราะเงื่อนไขการเข้าถึงเงินกู้ ณ วันนั้น ซับซ้อนกว่าในปัจจุบัน แม้ธุรกิจของคุณจะสร้างสรรค์เพียงใด แต่เมื่อไม่มีโอกาสเข้าถึงเงินทุน ก็ยากที่จะเริ่มต้นกิจการได้
แล้วจะทำอย่างไรให้ประชาชนคนไทย หลุดพ้นจากความยากจนได้ ?
เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาข้างต้น #กองทุนหมู่บ้าน
จึงกลายเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่พรรคไทยรักไทย
ภายใต้การนำของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศเป็นนโยบายของพรรคและใช้สู้ศึกเลือกตั้งปี 2544
เมื่อพรรคไทยรักไทยได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจากประชาชนอย่างถล่มทลาย จึงเริ่มดำเนินนโยบายที่ได้ให้สัญญาประชาคมไว้กับประชาชนทันที
ณวันนั้น 25 กรกฏาคม 2544
คือ วันที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นประธานในพิธีโอนเงินกองทุนหมู่บ้านล็อตแรก 7,125 ล้านบาท หรือ 7,125 กองทุน ใน 64 จังหวัด ไปให้กับประชาชนโดยตรง“วันนี้มีความสุขมากในการเข้าสู่การเมือง มีโอกาสทำงานให้กับประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างแท้จริง และไม่ว่ารัฐบาล ตนเอง ข้าราชการ รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทุ่มเทการทำงานในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เงิน 7,000 ล้านบาท ถูกโอนไปยังหมู่บ้านกว่า 7,000 แห่ง หลายคนคิดว่าเรื่องนี้เป็นความฝัน เพราะช่วงหาเสียงเลือกตั้งก็ถูกดูแคลนว่า เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมมือกันเป็นอย่างดี” คือข้อความส่วนหนึ่ง ที่ ดร.ทักษิณ ชินวัตร กล่าวกับประชาชนในวันเปิดตัวกองทุนหมู่บ้านพร้อมโอนเงินล็อตแรกไปสู่ประชาชนอย่างเป็นทางการ
“กองทุนหมู่บ้าน”
เป็นนโยบายที่ดำเนินการทันทีหลัง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี เงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทเป็นการกองทุนที่ไม่มีเงื่อนไขว่าหมู่บ้านนั้นต้องมีจำนวนครัวเรือนเท่าไหร่ สมาชิกในแต่ละครัวเรือนต้องมีเท่าไหร่ ทุกหมู่บ้านจะได้รับเงินจัดสรรเท่ากัน เพื่อใช้สำหรับหมุนเวียนในการลงทุน สร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนและครอบครัว สำคัญกว่านั้นคือแต่ละหมู่บ้านจะได้รับสิทธิในการบริหารเงินกองทุนด้วยตัวเองทุกขั้นตอน โดยคนในหมู่บ้านจะเลือกสรรคณะกรรมการมาจัดสรรกองทุนกันเอง โดยมีเพียงสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ หรือ สทบ. เป็นหน่วยงานเดียวเท่านั้นที่รับผิดชอบดูแลภาพรวมทั้งหมด
#ณวันนั้น “กองทุนหมู่บ้าน”นอกจากจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือแก้ไขปัญหาความยากจนตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังทำหน้าที่เสริมสร้างการพึ่งพาตัวเองในด้านการเรียนรู้ และพัฒนาความคิดริเริ่มต่างๆ ทั้งในการแก้ไขปัญหาหรือสรรสร้างสิ่งใหม่ๆ ผ่านกระบวนการของหมู่บ้านและชุมชนนั้นๆ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่น และหลักประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานให้แก่ประชาชน
การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านปีแรก มีจังหวัดที่จัดสรรเงินแก่กองทุนหมู่บ้านที่จดทะเบียนไว้มากถึงร้อยละ 90 ผลักให้เกิดกองทุนหมู่บ้านมากถึง 66,188 กองทุน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายการสร้างแรงจูงใจ โดย 2 ปีถัดหลังจากนั้น รัฐบาลได้จัดการประเมินผลการดำเนินการของกองทุนฯ เป็นครั้งแรก แบ่งผลการดำเนินงานออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ AAA (ดี), AA (ปานกลาง) และ A (ไม่ดี) กองทุนใดที่มีผลการดำเนินงานระดับ AAA จะได้รับเงินทุนจากรัฐบาลเพิ่ม 100,000 บาท และหากบริหารงานดีอย่างต่อเนื่อง ก็จะได้สิทธิกู้ยืมต่อยอดจาก ธกส. หรือ ธนาคารออมสิน อีกด้วย
ปัจจุบัน กองทุนหมู่บ้านกลายเป็นโครงการสำคัญของประชาชน
โดยเฉพาะการเป็นแหล่งเงินทุนให้กับชาวบ้านและชุมชนในสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจของประเทศเข้าขั้นวิกฤต รายงานประจำปี 2563 สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ระบุว่ามีโครงการที่ถูกดำเนินการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น การจัดสรรงบประมาณให้กับกองทุนฯ กองทุนละ 200,000 บาท หรือ การที่ให้แต่ละกองทุนฯ เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ฯ ตามความสมัครใจ เป็นต้น
“กองทุนหมู่บ้าน” กลายเป็นหนึ่งในนโยบายสาธารณะ ที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งยังถูกปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทสังคมปัจจุบันอยู่เสมอ นับเป็นโครงการ Microfinance ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่ทำงานโดยภาครัฐ โดยมีเป้าหมายคือ “ประชาชนคิด ประชาชนใช้ และประชาชนจัดการเงินทุนทั้งหมด” ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำอย่างแท้จริง
ข้อมูลจาก : https://ptp.or.th/